คุณผู้อ่าน... ท่านที่เคารพ
วันนี้ผมนำกรณีตัวอย่างบริษัทที่หันมาใช้เทคโนโลยี thin client แทนเครื่องพีซี และการดูแลระบบจากศูนย์กลางด้วย Virtualization ของ citrix เชิญท่านติดตามได้
PEPPO นำไอทีพัฒนาธุรกิจ ปรับแนวคิดสู่การประมวลผลแบบ Centralized
เมื่อธุรกิจค้าปลีกสินค้าแฟชัน ต้องการข้อมูลเพื่อการปรับแผนการขายอย่างรวดเร็ว การพัฒนาระบบการประมวลผลที่สามารถส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ จึงเป็นหนทางที่จะช่วยให้ธุรกิจก้าวสู่ความสำเร็จได้
PEPPO อาจจะไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูสำหรับนักช้อปสักเท่าไร แต่ถ้าเอ่ยถึงชื่อของ GUESS, GUESS KIDS, BABY GUESS หรือ MNG เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักแบรนด์ชั้นนำในวงการแฟชันทั้งสองแบรนด์นี้ ซึ่งทาง PEPPO เป็นบริษัทผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายของสองผลิตภัณฑ์นี้และยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่าง CASTRO ที่เพิ่งนำเข้ามาทำตลาดอีกด้วย
สำหรับช่องทางจัดจำหน่ายของ PEPPO นั้นมีอยู่สองรูปแบบคือ Flagship Store (ร้านค้าที่ทาง PEPPO เป็นผู้ดำเนินการเอง) และ In Store ( เคาน์เตอร์หรือร้านค้าที่มีห้างสรรพสินค้าเป็นผู้ดำเนินการ) ซึ่งช่องทางจัดจำหน่ายทั้งสองรูปแบบก็มีความต้องการเทคโนโลยีที่ต่างกัน ในการมาเสริมประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะตัว In Store ที่มีพื้นที่จำกัดในการจัดวางเครื่องพีซี ดังนั้นจึงต้องหาหนทางอื่นในการจัดเก็บข้อมูลการขาย เพราะทางห้างสรรพสินค้านั้นไม่มีการเก็บรายละเอียดของสินค้ามากนัก โดยต้องการู้เพียงว่าขายสินค้าอะไรไปจำนวนเท่าไร ในราคาเท่าไร ส่วนรายละเอียดของสินค้าอย่างเช่น ขนาด สีสัน หรือรูปแบบของสินค้าจะไม่มีเก็บไว้ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้ PEPPO วางแผนการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการสรรหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้งาน โดยไม่ขัดกับข้อกำหนดของทางห้างสรรพสินค้า ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของอุปกรณ์ รวมไปถึงการจัดวางอีกด้วย
กำหนดความต้องการทางด้านธุรกิจ
ปัจจุบันทาง PEPPO มี Flagship Store อยู่ 12 แห่ง และมีแผนจะเปิดสาขาใหม่อีก 8 แห่งเร็วๆ นี้ ส่วนร้านในห้างหรือ In Store มีอยู่ 38 แห่ง และแวร์เฮ้าส์ 1 แห่ง ซึ่งสาขาทั้งหมดที่กล่าวไปนี้จะรวมไปถึงสาขาในต่างจังหวัดอย่าง พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต และเชียงใหม่ด้วย
ดังนั้นนอกเหนือจากการจัดเก็บข้อมูลการขายแล้ว ปัญหาในเรื่องของการเชื่อมต่อระหว่างสาขาและสำนักงานใหญ่ ก็จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเช่นกัน เพราะความต้องการของ PEPPO นั้น ต้องการรับทราบถึงยอดขายในแต่ละวันของทุกสาขา ทำให้สาขาต้องส่งข้อมูลการขายมายังสำนักงานใหญ่ได้ทุกวัน และในส่วนของร้านค้าก็ต้องสามารถเช็กสต็อกสินค้าจากสำนักงานใหญ่ได้เช่นกัน เพื่อช่วยให้การกระจายสินค้าดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าค้างสต็อกลดลง แถมลูกค้าเองก็สามารถทราบได้ว่าสินค้าที่ตัวเองต้องการอยู่ที่สาขาใด กรณีที่สินค้าที่สาขาที่ไปซื้อหมดลง
วางแผนการพัฒนาด้านไอที
พลากร คิสาลัง IT Manager, Peppo Fashions Group Co. , Ltd. กล่าวว่า “ ระบบเดิมของ PEPPO ก่อนที่ผมจะเข้ามาดูแลด้านไอทีนั้น จะเป็นการใช้เครื่องพีซีในการเก็บข้อมูลการขายของแต่ละสาขา ซึ่งต้องนำมารวมกันในภายหลัง ซึ่งไม่สะดวกและทำให้ไม่สามารถรับทราบถึงยอดขายในแต่ละวัน และถ้าสาขาใดต้องการเช็กสินค้าในสต็อก ก็ไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีข้อมูลแบบเรียลไทม์ ดังนั้นผมจึงต้องวางแผนในการพัฒนาระบบไอทีทั้งหมดใหม่ โดยกำหนดเป็นแผนงาน 5 ปี ซึ่งจะต้องรองรับการเติบโตของธุรกิจราว 20 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้ระดับการลงทุนที่เหมาะสม ”
สำหรับการเลือกใช้ระบบการเชื่อมต่อระหว่างสาขาและสำนักงานใหญ่นั้น ทาง PEPPO ไม่ต้องการระบบการทำงานแบบไคลเอ็นต์ / เซิร์ฟเวอร์ ที่ต้องไปติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไคลเอ็นต์ของแต่ละสาขา ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ช่วยลดความยุ่งยากในการจัดการ แต่ยังทำให้ต้องการแบนด์วิดธ์ในการเชื่อมต่อที่สูงด้วย
“ หลังจากที่เราได้ค้นหาข้อมูลของโซลูชันที่จะมาตอบโจทย์เราได้มากที่สุด เราก็พบว่า Citrix Presentation Server 4 น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเรา โดยเราได้ติดตั้ง Citrix Presentation Server 4 ไว้บนเครื่อง Server 2 ตัว ที่มีการทำโหลดบาลานซิง ทำให้สามารถรองรับทรานส์แอ็กชันที่เข้ามาได้อย่างสบายๆ โดยตัว Citrix Presentation Sever 4 นั้นจะรันอยู่บน Windows Server 2003 ในเครื่อง Server
จากนั้นเราได้นำแอพพลิเคชันที่ใช้ในองค์กรมาติดตั้งบนระบบนี้ อย่างระบบ Oracle Database รวมถึงระบบ ERP ของเราที่ชื่อว่า “PEPPOS” ด้วย โดยระบบนี้จะดูแลในเรื่องของระบบการขายสินค้าหน้าร้านด้วย ซึ่งหลังจากติดตั้งแอพพลิเคชันเรียบร้อย เราก็สามารถเลือกใช้ Thin Client แทนเครื่องพีซีเพื่อล็อกอินมาใช้งานแอพพลิเคชันที่ระบบได้ โดยเครื่องไคลเอ็นต์ไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ แต่ตัว Citrix Presentation Server 4 จะช่วยส่งหน้าจอการทำงานของแอพพลิเคชันไปยังเครื่องไคลเอ็นต์แทน แถมยังใช้แบนด์วิดธ์ในส่วนนี้น้อยมาก ซึ่งทำให้เราได้ระบบที่สามารถจัดการได้ง่ายจากศูนย์กลาง โดยไม่ต้องวุ่นวายกับการจัดการเครื่องไคลเอ็นต์ให้เสียเวลาเหมือนในอดีต ” พลากร กล่าวเสริม
Flagship Store กับความสะดวกในการใช้งานของ Thin Client
ในอดีตทาง PEPPO ใช้เครื่องพีซีกับ Flagship Store ทำให้ต้องเสียเวลามาดูแลระบบมาก ทั้งเรื่องของปัญหาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปมาก แถมผู้ดูแลระบบเองก็ไม่มีเวลาไปพัฒนางานอื่นๆ ให้ดีขึ้น เพราะมัวต้องดูแลงานในส่วนนี้ แต่หลังจากใช้ระบบของ Citrix Presentation Server 4 แล้ว ทาง PEPPO เลือกใช้ Thin Client ในการทำงาน เพื่อติดต่อไปใช้แอพพลิเคชันที่สำนักงานใหญ่ ดังนั้นเครื่อง Thin Client นี้จึงไม่จำเป็นต้องมีฮาร์ดดิสก์ แต่ใช้ Windows XP Embedded ใน Flash ROM ทำให้ไม่ต้องดูแลทั้งในเรื่องของการลงวินโดวส์ใหม่ หรือปัญหาฮาร์ดดิสก์เสียหาย ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญเสียข้อมูลของธุรกิจ
พลากร ให้ข้อมูลว่า “ การใช้งาน Thin Client นอกจากจะช่วยให้เราประหยัดค่าดูแลรักษาระบบแล้ว ยังช่วยลดระดับการลงทุนด้วย เพราะด้วยราคาเครื่องราว 15,000 บาท ที่ถูกกว่าพีซี พอสมควร แถมยังได้โอเอสมาพร้อมในตัว จึงนับว่าเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ามาก ซึ่งขีดความสามารถของ Thin Client สามารถรองรับงานของเราในอีก 5 ปีข้างหน้าได้อย่างแน่นอน โดยที่ไม่ต้องอัพเกรดฮาร์ดแวร์เลย และในส่วนซอฟต์แวร์ถ้าต้องการอัพเกรดเราก็ทำเพียงที่เดียว ที่แอพพลิเคชันเซิร์ฟเวอร์ในสำนักงานใหญ่เท่านั้นเอง อย่างเช่น ซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัส เราก็ติดตั้งเฉพาะที่เซิร์ฟเวอร์ในสำนักงานใหญ่เท่านั้นเอง
ในส่วนของการขายสินค้า เราใช้ระบบบาร์โค้ดมาช่วย โดยที่ Flagship Store จะใช้เครื่องอ่านบาร์โค้ดในการสแกนข้อมูลสินค้าที่จะขาย เพื่อเก็บข้อมูล หรือใช้สำหรับเช็กสต็อกที่แวร์เฮ้าส์ และที่สำคัญคือ Flagship Store เป็นร้านภายใต้การดูแลของ PEPPO จึงต้องมีการพิมพ์ใบกำกับภาษีด้วย ดังนั้น Thin Client จึงต้องรีโมตไปใช้แอพพลิเคชันที่สำนักงานใหญ่ และดึงข้อมูลมาพิมพ์ที่พรินเตอร์ของสาขา ซึ่งงานในส่วนนี้มีจุดที่ต้องคำนึงถึง 2 จุดคือ เรื่องของเน็ตเวิร์กแบนด์วิดธ์และระบบ WAN Printing โดยในส่วนเน็ตเวิร์กนั้นเราเชื่อมต่อด้วย ISDN Line ความเร็ว 128 Kbps ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเดือนละไม่ถึงแปดร้อยบาท แต่สามารถรองรับการเชื่อมต่อของแคชเชียร์หรือเครื่อง Thin Client ได้ถึงสองเครื่องเลยทีเดียว แถมให้เสถียรภาพในการเชื่อมต่อที่น่าพอใจ นอกจากนั้นเรายังมีการทำ VPN เพื่อความปลอดภัยในการเชื่อมต่อด้วย โดยเราเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของ Cisco มาทำ VPN Gateway ที่สำนักงานใหญ่ และในส่วนของสาขานั้นเราต้องการประหยัดการลงทุน จึงได้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่คอมแพตทิเบิลกับ Cisco เป็น ADSL Router ที่สนับสนุนการทำ VPN ซึ่งระบบ VPN ของเรานับเป็นระบบที่มีค่าใช้จ่ายถูกมาก
สำหรับระบบการพิมพ์ใบกำกับภาษีจากสำนักงานใหญ่นั้น เราใช้คุณสมบัติของโพรโตคอล UPD จาก Citrix Presentation Server 4 ที่ใช้แบนด์วิดธ์ในการส่งข้อมูลมาพิมพ์เพียงเล็กน้อย เพราะข้อมูลที่ส่งไปพิมพ์ถูกบีบอัดเรียบร้อยแล้ว จึงช่วยให้งานตรงนี้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งตรงกับจุดประสงค์ของเราที่ไม่ต้องการลงทุนด้านแบนด์วิดธ์มาก ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของ Citrix Presentation Server 4 ก็คือ เมื่อลิงก์หลักของเรามีปัญหา ระบบจะสวิตช์ไปใช้ลิงก์สำรองทันที โดยที่เราไม่ต้องมีอุปกรณ์ใดมาช่วยตรงจุดนี้เลย เพราะร้านของเราจะต้องเชื่อมต่อกับสำนักงานใหญ่ได้ตลอด ดังนั้นการเชื่อมต่อของเราจึงดาวน์ไม่ได้ เพราะจะทำให้เราเสียโอกาสในการขาย ”
Download บทความฉบับเต็ม PDF
บทความนำมาจากนิตยสาร Eworld ฉบับประจำเดือน กรกฎาคม 2549
Eworld Magazine เราให้คำตอบสำหรับธุรกิจของคุณ
www.facebook.com/eworldmag