คุณผู้อ่าน... ท่านที่เคารพ
ช่วงนี้เครียดกับข่าวน้ำท่วม และจิตใจของเราที่ต้องรอคอยเหตุการณ์บางอย่าง.. จนจะเป็นโรคจิตอ่อน ๆ เข้าไปทุกขณะอยู่แล้ว ก็เผอิญได้เห็นหนังสือเล่มหนึ่งของเพื่อนบ้านที่กำลังเก็บของหนีน้ำอยู่ หนังสือที่มีหน้าปกเขียนด้วยตัวหนังสือสีแดงแบบเรียว ๆ ว่า "วสิษฐ เดชกุญชร" ในบรรทัดแรกและบรรทัดถ้ดมาเป็นตัวพิมพ์สีดำความว่า "รำลึกชาติ (นี้)" แค่เห็นชื่อผู้เขียน ความปีติก็บังเกิดในจิตใจ รู้สึกเบาหวิวและริงโรดเหมือนเจอคนที่รู้จักและอยากเจอมานานเช่นนั้น ท่านคงเดาได้ถูกว่า ผมต้องขอหยิบยืมหนังสือเล่มนั้น จากเพื่อนบ้านทันที เพื่อ "รำลึกชาติ ถึงท่านวสิษฐ เดชกุญชร" บุคคลที่ผมชื่นชอบในผลงานวรรณกรรมของท่านมาโดยตลอด
อันที่จริงช่วงนี้ เอ.. หรือว่าหลายปีมานี้ อืม.. เอาเป็นว่าตั้งแต่หลุดออกมาจากรั้วมหาลัยที่อุตสาห์อยู่จนครบครบ 4 ปีแล้วนั่นแหละ ผมก็หายไปจากการอ่านวรรณกรรมไปเลย ทั้งนี้มันมีเหตุผลครับ .. ผมต้องใช้สมองซีกซ้ายมากขึ้น ต้องหาเหตุและผลความเป็นตรรกะของงานที่ทำอยู่จนเกือบจะลืมไปว่า ยังมีสมองซีกขวาอีกข้างไว้ใช้งานได้อยู่ ทำให้เมื่อพบเห็นชื่อและหนังสือเล่มดังกล่าว จึงทำให้รู้สึกเบาหวิวและริงโรดอย่างที่บอกไว้นั่นแหละครับ
ผมอ่านหนังสือของท่านวสิษฐ เดชกุญชร อยู่บ้างหลายเล่ม เช่น จันทร์หอม สารวัตรใหญ่ เป็นต้น เรื่องราวส่วนใหญ่ออกไปแนวบู๊ ยิงกันสนั่นเมือง ตลอดทั้งเรื่องคนดีต้องสังเวยชีวิตไปไม่ใช่น้อย จนไม่อยากจะเป็นคนดีเหมือนในวรรณกรรมของท่านไปเลยนั้นเชียว ก็น่าจะสมเหตุผลอยู่ เพราะท่านมีอาชีพเป็นตำรวจนี่ครับ เรื่องราวจึงออกไปในแนวบู๊ล้างผลาญกันอย่างนั้น..
แต่.. เล่มที่ผมอ่านอยู่ "รำลึกชาติ (นี้)" ทำให้ผมได้รู้จักตัวตนของท่านวสิษฐ ในอีกมุมหนึ่งที่แตกต่างออกไปเหมือนเคยรู้จักแต่ซ้าย แล้วมารู้จักขวา หรือเคยเห็นแต่สีขาว แล้วจู่ ๆก็มาเห็นสีดำ ตัวตนที่มีอารมณ์ขันอยู่ในตัวตนของหนังสือและแฝงด้วยปรัชญา แนวความคิดทั้งที่เป็นปัจจุบันและแบบอุดมคติ ทำให้ต่อมความคิดของสมองซีกขวาที่จินตนาการไปในอุดมคติกับสมองซีกซ้ายที่เก็บเอาอุดมคติเหล่านั้นออกมาเป็นตรรก หาเหตุและผลเชื่อมโยงกันเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตปัจจุบัน อยากที่เรียกขานว่า "เป็นคนดี" คนหนึ่งของสังคมนี้ได้เลยทีเดียว
หนังสือ "รำลึกชาติ (นี้)" โดยสำนักพิมพ์ ประพันธ์สาส์น พิมพ์ครั้งที่สองพฤศจิกายน 2533 ได้รวบรวมเรื่องสั้นที่ท่านเขียนไว้ในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปิยมิตรวันจันทร์ และหนังสือชาวกรุง ในช่วงปี 2498-2500 เรื่องราวเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งเรื่องสั้นเหล่านี้ยังคงอ่านสนุกได้แม้ในสมัยปัจจุบัน
เรามาลองดูอารมณ์ขันและปรัชญาชีวิตในเรื่องสั้นเหล่านั้นพอเป็นยากระสายกันสักหน่อยประไร
"หมากับผม หรือผมกับหมา" ที่กล่าวถึง บทสนทนาของชายคนหนึ่งกับหมาแปลกประหลาด "หมาทรุดตัวลงนั่งบนสองขาหลัง เอาสองขาหน้ายันพื้นไว้ แล้วมองหน้าผมด้วยแววตากึ่งดูถูกกึ่งสมเพชร "แล้วนี่คุณยังแน่ใจหรือว่า คุณประเสริฐกว่าผม" ผมสะดุ้งสุดตัว...ลุกพรวดพราดยืนขึ้นจ้องดูหมาเจ้าคารมตัวนั้นอย่างเดือดดาล.. ผมแค้นใจจนเกือบจะกลายเป็นหมาไปในชั่วพริบตัวนั้น"
บทเกริ่นนำในเรื่อง "หมากับผม หรือผมกับหมา" อ่านเรื่องสั้นนี้จบแทบจะทำให้ผมเป็นหมา .. เอ้ย..รู้ว่าผมไม่ได้ประเสริฐกว่าหมาในแง่ของการใช้ชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยสี่สักเท่าไหร่ หรืออาจจะแย่ไปกว่าหมาด้วยซื้ำ ถ้าหากผมไม่มีคุณธรรมที่ยังคงเรียกตัวเองได้ว่าเป็นมนุษย์ได้ หากท่านคิดว่าตัวเองประเสริฐกว่าหมาก็ลองอ่านเรื่องสั้นนี้ดูครับ... คำตอบจะเปิดเผยตัวมันในใจท่านเองครับ
หรือ "กำเนิดของสังคม" ที่พวกเราชอบอ้างว่าสังคมนั้นเป็นอย่างนี้ สังคมนี้เป็นอย่างนั้น ประเทศชาติต้องประชาธิปไตย ประชาธิปไตยดีที่สุด เมื่ออ่านเรื่องนี้จบ ท่านจะเห็นจุดยืนของท่านและมุมมองประชาธิปไตยแตกต่างไปจากที่มหาลัยสอนและนักการเมืองชอบกล่าวอ้างกันเสียจริง ๆ
"นายเป็นพวกบ้าประชาธิไตย และบ้าชนิดที่เกือบจะแก้ไม่หายแล้วด้วย นายปล่อยให้ความเห็นคนส่วนมากเป็นนายความเห็นของตนเองจนถึงขนาดที่ว่า ถ้าคนหมู่มากชี้มือไปที่คนคนหนึ่งแล้วบอกนายว่า นั่นคือหมา นายก็คงต้องยอมเชื่อโดยปราศจากความสงสัย"
หรืออีกหลายเรื่องที่มีอารมณ์ขันในตัวอักษรและแฝงความคิดอันทันสมัย ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า 50 ปีที่แล้วเรื่อง UFO หรือมนุษย์จากดาวอังคารจะเป็นเรื่องธรรมดา ๆ มากที่ท่านวสิษฐได้เอามาผูกเรื่องไว้ใน "คนดีของศรีประไพ" หรือจะเรื่องหักมุมสุดขั้วบวกกับลบกันเลย ก็เรื่อง "เหตุเกิดบนสะพานใหม่" ที่สะท้อนให้เห็นเบื้องลึกของจิตใจมนุษย์คนหนึ่งเมื่อถูกกระตุ้นด้วยสถานการณ์นิดเดียว การตัดสินใจในเรื่องที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้นได้เสมอ.... เหมือนผู้ชายกับผู้หญิงซึ่งต่างไม่รู้จักกันเลยบนสะพานพุทธแห่งนั้น..
ยังมีอีกหลายเรื่องครับ ก็เกริ่นไว้ให้รับรู้พอเป็นยากระสาย ท่านสนใจก็ลองหาหยิบยืม.. หรือจากร้านขายหนังสือเก่า ๆ ดู ส่วนเล่มนี้เห็นทีผมจะนำไปคืนเจ้าของก่อน
ประเดี๋ยวน้ำมาของที่ชาวบ้านบริจาค เอ็ย... หนังสือจะเปียกเอาไปคืนเจ้าของเขาไม่ได้
เอวัง..
0 comments:
แสดงความคิดเห็น